• Skip to content
  • Jump to main navigation and login

Nav view search

Navigation

 

 

 

พระธาตุนาดูน

 

     โบราณวัตถุที่มีอายุมากว่า 1,300 ปี เป็นสถูปที่ใช้บรรจุพระสารีริกธาตุ ลักษณะสถูปทำด้วยทองสำริด มีส่วนประกอบ 2 ส่วนคือ 1.ส่วนยอด มีลักษณะ เป็นปล้องไฉน จำนวน 2 ปล้อง ส่วนบนสุดเป็นปลียอดกลม 2ตัวสถูปทำด้วยทองสำริด มีลักษณะคล้ายระฆัง หรือโอคว่ำ ส่วนยอดของตัวสถูป จะรับเข้ากับส่วนล่างสุดของส่วนยอดพอดี ตัวองค์พระธาตุจะแบ่งออกเป็น 16 ชั้นลักษณะการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ภายในโปร่ง จากฐานรากขึ้นไปชั้นที่ 1 สูง 3.7 เมตร

 

ที่ตั้ง : บ้านนาดูน อำเภอนาดูน

 

การเดินทาง : จากตัวเมืองมหาสารคามใช้เส้นทางหมายเลข 2040 ผ่านอำเภอแกดำอำเภอวาปีปทุม แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 2045 ถึงอำเภอนาดูน ห่างจากตัวเมืองมหาสารคาม ประมาณ  65 กิโลเมตร

 

 

 

 

 

 

วนอุทยานโกสัมพี

 

     มีเนื้อที่ 125 ไร่ มีลักษณะเป็นสวนป่ามีต้นไม้หลายชนิด เช่น ต้นยางขนาดใหญ่ ต้นตะแบกและยังมีลิงแสมฝูงใหญ่จำนวนหลายพันตัว มีลิงแสมขนสีทองซึ่งเป็นพันธุ์ที่หายาก ไม่ดุร้าย วนอุทยานโกสัมพีมีสิ่งที่น่าสนใจคือแก่งตาดในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม น้ำจะตื้นเขินมองเห็นหินดาน

 

ที่ตั้ง : หมู่ 1 ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม

 

การเดินทาง : จากตัวเมืองจังหวัดมหาสารคามเดินทางตามแนวทางหลวงหมายเลข 208 ไปอำเภอโกสุมพิสัย ให้เดินทางตรงลงมาอีก 600เมตร ตามเส้น ทาง ร.พ.ช.สาย 508 (บ้านคุ้มกลาง-โพนงาม) ให้เลี้ยวขวาก็จะถึงที่ทำการ "วนอุทยานโกสัมพี"

 

 

 

 

 

 

บึงกุย สะดืออีสาน

 

     บึงกุยเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของ ตำบลหัวขวาง ตำบลแก้งแก และตำบลเหล่า อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และเป็นสะดืออีสาน มีสิ่งก่อสร้างที่มีสัญลักษณ์ของสะดืออีสาน มีพื้นที่ 2,750 ไร่ จุน้ำได้ 4.3 ล้านลูกบาศก์ ชาวบ้านในเขตอำเภอโกสุมพิสัยและอำเภอใกล้เคียงได้อาศัยบึงกุยเป็นแหล่งทำมาหากิน โดยเฉพาะการประมง มีการจับปลาจากบึงกุยมาขาย แลกเปลี่ยนเป็นอาชีพหลักและอาชีพรอง ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนโดยรอบ

 

ที่ตั้ง : หมู่ที่ 13 ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม 44140

 

การเดินทาง : จากตัวเมืองจังหวัดมหาสารคามเดินทางตามแนวทางหลวงหมายเลข 208 ไปอำเภอโกสุมพิสัย จะอยู่ฝั่งซ้ายทาง ก่อนจะถึงอำเภอโกสุมพิสัยประมาณ  1กม.

 

 

 

 

 

 

หาดวังโก จ.มหาสารคาม

 

     เป็นหาดทรายธรรมชาติ เกิดจากธรรมชาติของแม่น้ำที่น้ำไหลผ่านโค้งน้ำ ตะกอนทรายจะไหลไปทับถมเกิดเป็นหาดทรายโดยธรรมชาติ หาดวังโกก็เช่นเดียวกันตั้งอยู่บนโค้งของแม่น้ำชีซึ่งยาวประมาณ 1 กม. หัวท้ายของหาดถูกกั้นไว้ด้วยแก่งทั้งสองด้าน ด้านซ้ายมือเรียกว่า แก่งบ้านห้วยและขวามือเรียก แก่งท่าเตาดินทั้งสองแก่งทำหน้าที่เหมือนฝายทดน้ำธรรมชาติ (ลักษณะของแก่งทั้งสองจะเหมือนกันกล่าวคือ จะเป็นลานหินทอดยาวขวางแม่น้ำชี) ในฤดูแล้งทั้งสองแก่งก็จะทำหน้าที่ฝายธรรมชาติกั้นน้ำไว้ทำให้แม่น้ำชีบริเวณหาดวังโกยังมีปริมาณน้ำเหลือเฟือ พอจะทำให้นักท่องเที่ยวไปเล่นน้ำได้ ถึงแม้ว่าจะแล้งมากเหมือนปี 2556 นั้นก็ตาม

 

ที่ตั้ง : อำเภอ โกสุมพิสัย จังหวัด มหาสารคาม

 

การเดินทาง : ไปตามเส้นทางจังหวัดมหาสารคาม -อ.โกสุมพิสัย  - ขอนแก่น หาดวังโกจะอยู่ทางขวามือถ้าเรามุ่งหน้าไปทางขอนแก่น ออกจากโกสุมมาได้ไม่ไกลนัก

 

 

 

 

 

 

พระพุทธมงคล พระพุทธมิ่งเมือง จ.มหาสารคาม

 

     พระพุทธรูปสำคัญ ถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองอยู่ 2 องค์ คือ พระพุทธมงคล และพระพุทธมิ่งเมือง ซึ่งเป็นพระเก่าแก่ เป็นโบราณวัตถุและเป็นที่เคารพสักการบูชาของชาวอำเภอกันทรวิชัยมาแต่ครั้งโบราณ นอกจากนี้ยังมีพระพิมพ์ที่มีเนื้อดีเป็นที่นิยมของผู้สะสมพระเป็นอย่างยิ่ง

 

ที่ตั้ง : อำเภอกันทรวิชัย จังหวัด มหาสารคาม

 

การเดินทาง : ไปตามเส้นทางมหาสารคาม-อำเภอกันทรวิชัย–กาฬสินธุ์ วัดพุทธมงคล และพระพุทธรูปยืนมงคล จะอยู่ขวามือถ้าเรามุ่งหน้าไปกาฬสินธุ์จะอยู่ก่อนถึงอำเภอกันทรวิชัย และเมื่อเดินทางโดยใช้เส้นทางเดิม เข้าอำเภอกันทรวิชัย พระพุทธรูปมิ่งเมืองหรือพระพุทธรูปสุวรรณมาลี และวัดสุวรรณาวาส จะอยู่ซ้ายมือ ใกล้ตลาดอำเภอกันทรวิชัย

 

 

 

 

 

 

อุทยานมัจฉาโขงกุดหวาย

 

     แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เชิงชนบทโดยได้รับการประกาศเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดมหาสารคาม เมื่อปี 2540 เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้มีฝูงปลาหลายร้อยชนิดที่มาจากแม่น้ำชีได้เข้ามาอาศัยอยู่และส่วนมากจะเป็นปลาเผาะซึ่งเป็นปลาเนื้ออ่อน ต้นตระกูลของปลานี้จะอยู่ในแม่น้ำโขง ชาวบ้านส่วนใหญ่อนุรักษ์ไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาดูและศึกษาพันธุ์ปลาต่างๆเหล่านี้

 

ที่ตั้ง : บ้านโขงกุดหวาย หมู่ที่7 ตำบลเกิ้ง  อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

 

การเดินทาง : ห่างจากเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามไป 6 กิโลเมตร  ตามเส้นทางมหาสารคาม – มุกดาหาร บริเวณอุทยาน ตั้งอยู่ในกุดหวาย

 

 

 

 

 

 

สะพานไม้แกดำ

 

     เป็นสะพานไม้เก่า อายุราวกว่า 50 ปี  ที่ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางข้ามอ่างเก็บน้ำหนองแกดำ โดยเชื่อมระหว่างบ้านหัวขัวกับหมู่บ้านแกดำ แต่ก่อนสะพานไม้นี่ทรุดโทรมาก ชาวอำเภอแกดำพร้อมด้วยกำลังทหาร ช่วยกันซ่อมแซมสะพานไม้ โดยหวังให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา รวมถึงพัฒนาสะพานไม้เก่าแก่แห่งนี้ ให้เป็นสถานที่ถ่ายภาพและเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดมหาสารคามมีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ครอบคลุม 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแกดำ บ้านหัวขัว บ้านโพธิ์ศรี  เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อชาวอำเภอแกดำ

 

ที่ตั้ง : อยู่ที่วัดดาวดึง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม

 

การเดินทาง : เราเริ่มต้นจากกรุงเทพโดยตั้งใน google map ให้นำทางโดยพิมพ์ว่าวัดดาวดึง หนองแกดำ ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงก็มาถึงศาลาของวัดดาวดึง  เส้นทางก่อนถึงจะเข้าไปในหมู่บ้าน

 

 

 

 

 

 

กู่สันตรัตน์

 

     สร้างด้วยศิลาแลงเป็นศิลปะขอมแบบ บายน มีรูปลักษณะปราสาทหินที่มีปรางค์ประธานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัสตุรัสมีมุกด้านหน้ายื่นไปทางทิศตะวันออก มีบรรณาลัยซึ่งเป็นที่เก็บคำภีร์ทางศาสนาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หันหน้าเข้าหาปรางค์ประธาน อาคารทั้ง2 ล้อมด้วยกำแพงศิลาแลงซึ่งสร้างยังไม่เสร็จเรียบร้อยอีกชั้นหนึ่งกู่สันตรัตน์สร้างขึ้นมาด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อประดิษฐานรูปเคารพสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเป็นโรคยาศาลคือเป็นที่พักรักษาพยาบาลคนเจ็บป่วยอีกด้วย

 

ที่ตั้ง : ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

 

การเดินทาง : ใช้เส้นทางหมายเลข 2040 ผ่านอำเภอแกดำ อำเภอวาปีปทุม เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 2045(เข้าอำเภอนาดูน) ประมาณ 1 กิโลเมตร จะอยู่ทางขวามือ

 

 

 

 

 

 

ปูทูลกระหม่อม ป่าดูนลำพัน

 

     ท่ามกลางป่าดูนลำพัน ที่ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ป่าน้ำซับที่มีความหลากหลายทางชีวภาพนอกจากจะได้พบพืชพันธุ์หายากหลายชนิดแล้ว ที่นี่ยังเป็นที่อาศัยของปูป่ามีชื่อเรียกว่า ปูทูลกระหม่อม หรือ ปูแป้ง  ตามภาษาชาวบ้านที่พบได้แห่งเดียวในโลก ที่ป่าดูนลำพันแห่งนี้ ปูชนิดนี้เป็นปูน้ำจืดที่สวยที่สุดในโลกมีลักษณะพิเศษ โดดเด่นกว่าปูชนิดอื่น เพราะมีสีสันบนตัวถึง 3 สี คือมีสีม่วงเปลือกมังคุดบริเวณกระดอง สีเหลืองส้มบริเวณขอบเบ้าตา ขอบกระดอง ขาเดินทั้ง 4 คู่ ก้ามหนีบ และสีขาวงาช้างบริเวณปลายก้ามหนีบทำให้มีการกล่าวว่า ปูทูลกระหม่อมนี้มองดูคล้ายกับปูนึ่งที่กลับมีชีวิตขึ้นมา นอกจากป่าอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ป่าดูนลำพันแห่งนี้ยังเป็นที่พักอาศัยของนกนานาพันธุ์ โดยเฉพาะนกไซบีเรียจำนวนมาก ที่บินมาแวะเยี่ยมเยือนอยู่เป็นประจำ

 

ที่ตั้ง : เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม

 

การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรี ผ่านจังหวัดนครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 226) เมื่อถึงอำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา เลี้ยวขวาผ่านอำเภอประทาย อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอยางสีสุราช มุ่งหน้าสู่อำเภอนาเชือก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน จะอยู่ก่อนถึงอำเภอนาเชือก ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร